อุโบสถเงินเริ่มสร้าง ในปี พ.ศ. 2547 สืบเนื่องจากอุโบสถหลังเดิมชำรุดและคณะศรัทธาวัดศรีสุพรรณซึ่งได้สืบทอดอาชีพการทำเครื่องเงิน (คัวเงิน) และเพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมจากบรรพบุรุษของตนมามากกว่า 200 ปี การสร้างอุโบสถด้วยการสลักลวดลายตามแนวประเพณีล้านนา
ภายในอุโบสถแสดงถึงการเคารพสักการะในพระรัตนตรัย ภายนอกแสดงถึงสัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยบูรณาการกับมิติทางพุทธศาสนา โดยใช้วัสดุอะลูมิเนียม (แทนเงิน) เงินผสมและใช้เงินบริสุทธิ์บางแห่งเพื่อความปลอดภัย จะบุและตกแต่งตั้งแต่หลังคา ผนังภายในและภายนอกทั้งหลัง ช่างที่ดำเนินการสร้างอุโบสถเงิน เฉพาะการใช้ อะลูมิเนียม เงินผสมและเงินบริสุทธิ์ สำหรับตกแต่ง เป็นช่างฝีมือพื้นบ้าน คือ นายดิเรก สิทธิการ และทีมงานอีก 8 คน ช่างแต่ละคนจะถนัดแตกต่างกัน เช่น ดุนโลหะ เขียนลวดลาย ตอกลาย ลวดลายที่นิยมใช้ในครั้งนี้เป็นลายเมฆไหล และลายโบราณ ซึ่งเป็นลายเฉพาะเทคนิคพิเศษของการทำลวดลาย โดยให้มีลักษณะพื้นผิวของลวดลาย พื้นเมืองมาผูกลายให้สอดคล้องกลมกลืน อันเป็นความสัมพันธ์กับความงดงามของกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า
กล่าวโดยสรุป การสร้างอุโบสถเงินของวัดศรีสุพรรณ เป็นการผสมผสานทุนทางสังคม ซึ่งชุมชนวันศรีสุพรรณ บ้านวัวลาย หมื่นสาร มีอยู่แล้ว โดยรับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษของตนมาปรับปรุงเป็นวัสดุแทนเงินบริสุทธิ์ อันเนื่องจากหายาก ราคาแพงและถือเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนาภูมิปัญญาในงานสถาปัตยกรรมอันแสดงถึงอาชีพและวิถีดั้งเดิมของชุมชนวัดศรีสุพรรณ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ ความเชื่อศรัทธาในพุทธศาสนา ซึ่งทำด้วยจิตวิญญาณของความเป็นสล่า (ช่าง) มาร่วมกันผลิตงานในวัด รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะประสบการณ์ ให้กับชาวบ้านและผู้สนใจทั่วไป เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้กับตนเองและครอบครัวต่อไป
แผนที่การเดินทางไปยังวัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่