ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ทุกๆปี ๒๓ มีนาคม – ๓ เมษายน จังหวัดนครราชสีมา จะจัดให้มี งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี เพื่อเทิดทูนวีรกรรม ท้าวสุรนารี วีรสตรีที่ต่อสู้กับข้าศึกเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย
ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า “โม” เป็นชาวนครราชสีมา โดยกำเนิดเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นธิดาของนายกิ่ม-นางบุญมา ต่อมาได้เป็นภริยาของพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ท่านปลัดเมืองนครราชสีมา จึงได้นามว่า “คุณหญิงโม”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อาณาจักรลาวเป็นประเทศราชของไทย มีเจ้าผู้ครอบครองนครอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ คือ เจ้าอนุวงศ์ได้ก่อกบฏ ยกทัพเข้ายึดเมืองนครราชสีมา แล้วกวาดต้อนผู้คนไปเมืองเวียงจันทน์ โดยมีคุณหญิงโมรวมอยู่ด้วย คุณหญิงโม ได้ออกอุบายกับพวกเชลยที่ถูกกวาดต้อน ให้ไปตีสนิทกับพวกทหารลาว ให้เกิดความชอบพอและแสร้งทำเป็นเจ็บป่วย เพื่อถ่วงเวลาในการเดินทาง เมื่อถึงทุ่งสัมฤทธิ์ตอนกลางคืน ก็ต่อสู้กับพวกทหารเวียงจันทน์จนได้รับชัยชนะ แล้วตั้งค่ายมั่นเพื่อต่อสู้กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์นั่นเอง เจ้าอนุวงศ์ ต้องถอยทัพไปจากเมืองนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ ด้วยความกล้าหาญเสียสละจนสามารถต่อสู้ได้รับชัยชนะข้าศึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “ท้าวสุรนารี”
ท้าวสุรนารีถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ รวมอายุ ๘๑ ปี และเจ้าพระยามหิศราธิบดีได้จัดการฌาปนกิจศพที่ วัดศาลาลอย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านทั้ง ๒ ได้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๗๐ หลังจากฌาปนกิจศพท้าวสุรนารี แล้ว เจ้าพระยามหิศราธิบดีได้ ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีไว้ ณ วัดศาลาลอย หน้าโบสถ์หลังเก่าที่ท้าวสุรนารีสร้างไว้
ต่อมา พ.อ.พระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ ๕ และพระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา เห็นว่า กู่ที่สร้างขึ้นที่วัดพระนารายณ์มหาราชได้ชำรุดทรุดโทรม จึงได้ปรึกษาหารือข้าราชการทหาร พลเรือน ตำรวจ และพ่อค้าชาวนครราชสีมา พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ที่ประตูชุมพล
และอัญเชิญโกศบรรจุอัฐิจากวัดพระนารายณ์มหาราช ส่วนหนึ่งมาบรรจุยังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แล้วได้ประกอบพิธีเจริญพุทธมนต์ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๗๗ ประกอบพิธีพราหมณ์ พิธีบวงสรวง พร้อมมีการจัดงานฉลองอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม ถึงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๗๗ รวม ๕ วัน ๕ คืน
และต่อมาจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ แล้วพิจารณานำเอาวันที่ท้าวสรุนารีมีชัยชนะต่อข้าศึก มาเป็นวันจัดงาน “ฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี” เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ คือจัดงานฯระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคม – ๓ เมษายน เรื่อยมาจนปัจจุบัน รวมปีนี้นับเป็นปีที่ ๗๙