อย่างที่ทราบกันดีว่าการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนนั้นจำเป็นจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่ที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก ซึ่งใบอนุญาตขับขี่มีหลายประเภทแตกต่างกันไปตามรูปแบบการใช้งาน เช่น ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ เป็นต้น
ใบขับขี่สาธารณะ คืออะไร?
ใบขับขี่สาธารณะ คือ เอกสารที่ผู้ขับขี่รถสาธารณะต่าง ๆ จำเป็นต้องมีติดตัวไว้ทุกครั้งที่เดินทาง เพื่อใช้ยืนยันว่าตนเป็นผู้มีความสามารถด้านการขับขี่ และได้รับอนุญาตให้ขับรถสาธารณะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยปัจจุบันสามารถใช้ได้ทั้งใบขับขี่ตัวจริง และใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ใบขับขี่สาธารณะมี 3 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ สำหรับคนที่สนใจอยาก
ขับแท็กซี่ หรือรถยนต์สาธารณะแต่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่สามารถเตรียมตัวได้ดังนี้
คุณสมบัติที่ควรมีสำหรับผู้ที่ต้องการทำ ใบขับขี่สาธารณะ
1.อายุ 22 ปี ขึ้นไป มีสัญชาติไทย
2.มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
3.มีความสามารถในการขับรถ และเข้าใจกฎจราจรเป็นอย่างดี
4.ไม่พิการ หรือมีโรคประจำตัวจนไม่สามารถขับรถได้ ไม่เป็นโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่เป็นผู้ติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษ
5.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
6.ไม่อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
7.ไม่เคยมีคดีเกี่ยวกับการขับรถ หรือโดนปรับตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
8.ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีต่าง ๆ แต่หากเคยรับโทษ ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้
- กรณีจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- กรณีจำคุกเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน
- กรณีจำคุกเกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
- กรณีอื่น ๆ เช่น โดนปรับ รอลงอาญา รอขึ้นศาล ต้องมีเอกสารทางคดีจากสถานีตำรวจมายืนยันชี้แจงเกี่ยวกับคดีความ
เอกสารที่ต้องใช้ในการขอทำ ใบขับขี่สาธารณะ
1.ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และยังไม่หมดอายุ (ฉบับจริง 1 ฉบับ และสำเนา 1 ฉบับ)
2.บัตรประชาชนฉบับจริง
3.ใบรับรองแพทย์ โดยสามารถแจ้งที่คลินิกได้ว่าต้องการใช้เพื่อทำใบขับขี่สาธารณะ และจะต้องออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน
ขั้นตอนการทำใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ
- เข้าไปที่เว็บไซต์
https://www.dlt-elearning.com เพื่อลงทะเบียนอบรมออนไลน์ และกรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ที่จะทำใบขับขี่สาธารณะ จากนั้นฟังอบรมออนไลน์ด้วยการชมวิดีโอ 3 ชั่วโมง ซึ่งเนื้อหาประกอบไปด้วยการฝึกอบรมภาคบังคับ การฝึกอบรมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและเส้นทางการเดินทาง การฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้ขับขี่รถสาธารณะ และการฝึกอบรมการให้บริการ ปิดท้ายด้วยการทำแบบทดสอบ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะได้รับคิวอาร์โค้ด (มีอายุ 180 วัน)
- จองคิวเพื่อเข้ารับการทดสอบผ่านทางเว็บไซต์
https://gecc.dlt.go.th หรือ แอป DLT Smart Queue ซึ่งสามารถเลือกสถานที่ วัน และเวลาได้ตามสะดวก โดยจะได้รับคิวอาร์โค้ดเพื่อใช้ยืนยันการจองคิว
- ยื่นเอกสารที่เตรียมไว้ให้แก่กรมการขนส่งทางบกตามวัน/เวลาที่จอง ได้แก่ บัตรประชาชน ใบขับขี่ส่วนบุคคล ใบรับรองแพทย์ และคิวอาร์โค้ดที่ผ่านการอบรมจากข้อ 1 (อายุไม่เกิน 180 วัน)
- ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย 4 อย่าง ได้แก่ ทดสอบการมองเห็นสีที่จำเป็นในการขับรถ ทดสอบสายตาทางลึก ทดสอบสายตาทางกว้าง ทดสอบปฏิกิริยาเท้า หรือทดสอบความสามารถในการใช้เบรกเท้า จากนั้นเข้ารับการอบรม 5 ชั่วโมง พร้อมสอบข้อเขียนซึ่งควรทำให้ได้ 90% โดยจะมีการแจ้งผลสอบทาง SMS หากสอบข้อเขียนผ่านเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือต้องสอบภาคปฏิบัติหรือสอบขับรถนั่นเอง
เมื่อผ่านการทดสอบทุกอย่างแล้ว จะได้ใบรับรองผ่านการอบรม และหนังสือขอตรวจประวัติอาชญากรรมซึ่งต้องไปยื่นที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตัวเอง จากนั้นรอรับการแจ้งผลทาง SMS ประมาณ 30 วันทำการ ทั้งนี้ผลการตรวจก็จะถูกส่งไปที่กรมการขนส่งทางบกด้วยเช่นกัน
หากผลการตรวจประวัติอาชญากรรมไม่มีปัญหา ก็สามารถชำระค่าธรรมเนียม ถ่ายรูป และรอรับใบขับขี่ได้ต่อไป
การทำใบขับขี่สาธารณะสามารถทำได้ที่สำนักงานของกรมการขนส่งทางบกทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าการทำใบขับขี่ส่วนบุคคลเนื่องจากเพิ่มขั้นตอนการตรวจประวัติอาชญากรรมเข้ามา แต่โดยรวมแล้วใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน จะเห็นได้ว่าการทำใบขับขี่สาธารณะไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน หากต้องการมีไว้เพื่อใช้ประกอบอาชีพ ขับแท็กซี่ หลังจากนี้ก็สามารถเริ่มขับรถรับส่งผู้โดยสารได้เลย โดยแนะนำ GrabTaxi เป็นอีกทางเลือกที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมี Grab Academy ช่วยติวทั้งการสอบภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติ แถม GrabTaxi ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะให้ผลตอบแทนดี คุ้มค่า มีความยืดหยุ่นด้านเวลาสูง จะทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในวันหยุดก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเราเอง