ตอบกระทู้ 
 
คะแนนกระทู้:
  • 0 Votes - 0 Average
  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5
Blu-ray vs HD-DVD
Sun, 15 Apr 07, 00:19
Post: #1
Blu-ray vs HD-DVD
   
ขับเคี่ยวกันข้ามปี ใครจะเลือกแบบไหนต้องลองอ่านดู!!
เพื่อให้ทุกท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่า เทคโนโลยีดังกล่าว "ใช่" หรือ ?ไม่? สำหรับคุณ วันนี้เราก็ได้นำสองเทคโนโลยีที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างสูสีมาฝากกันซึ่งเป็นเทคโนโลยีออพติคอลดิสก์ (Optical Disc) ยุคอนาคตที่กำลังจะมาแทนที่แผ่นดีวีดีที่เราใช้กันในปัจจุบัน นั่นก็คือ Blu-ray จากค่ายโซนี่ และ HD-DVD จากค่ายโตชิบา .. สองค่ายนี้ทะเลาะกันมาข้ามปีจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีจุดลงตัว ลองไปดูกันว่า....เทคโนโลยีของทั้งสองค่ายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และผู้บริโภคอย่างเรา?? จะเชียร์ฝั่งไหนดี?..

Blu-ray Disc จากค่ายโซนี่ และ HD-DVD จากค่ายโตชิบา ล้วนเป็นเทคโนโลยีออพติคอลดิสก์รุ่นล่าสุด ที่รองรับมาตรฐานวิดีโอแบบ High-Definition และสามารถบรรจุข้อมูลลงบนแผ่นได้จำนวนมากขึ้น โดยทั้งสองเทคโนโลยีใช้เลเซอร์แบบพิเศษสีน้ำเงินและมีหน่วยเก็บข้อมูลบนดิสก์ที่หนาแน่นกว่า ทำให้ปริมาณข้อมูลของแผ่นออพติคอลยุคใหม่มีจำนวนสูงกว่าแผ่นดีวีดีที่เราใช้กันในปัจจุบัน โดยแผ่น Blu-ray แบบชั้นเดียวสามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ 25 กิกะไบต์ และแบบสองชั้นเก็บข้อมูลได้ที่ 50 กิกะไบต์ ส่วนแผ่น HD-DVD นั้นมีความจุสำหรับแผ่นแบบชั้นเดียวที่ 15 กิกะไบต์ และแบบสองชั้นที่ 30 กิกะไบต์???? บลูเรย์แบบชั้นเดียวมีความจุ 25 กิกะไบต์ ซึ่งมากกว่าแผ่นดีวีดีทั่วไปประมาณ 5 เท่า และมากกว่าแผ่นซีดีธรรมดา 33 เท่า .. ความจุขนาดนี้ใช่ว่าขนาดของแผ่นจะต้องใหญ่ขึ้นนะ! ความจริงถ้าดูเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกของ Blu-ray และ HD-DVD อาจแทบแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าต่างจากดีวีดีทั่วไปตรงไหน

แผ่นทั้งสองประเภทมีขนาดเท่ากันคือ เส้นผ่านศูนย์กลาง 120 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 1.2 มิลลิเมตร โดย HD-DVD มีระดับชั้นที่เคลือบเพื่อปกป้องลายนิ้วมือและรอยขูดขีดประมาณ 0.6 มิลลิเมตร ส่วนทาง Blu-ray นั้นมีระดับชั้นป้องกันปัญหาดังกล่างเพียง 0.1 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่เสริมด้วยเทคโนโลยี Hard Coating ที่ทางโซนี่บอกว่า สามารถป้องกันรอยขูดขีดได้ดีกว่าเดิม ส่วนความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลนั้นอยู่ที่ประมาณ 36 เมกะบิตต่อวินาที สำหรับความเร็วระดับ 1 เท่า ซึ่งถือว่าเร็วขึ้นมากเมื่อเทียบกับดีวีดีและแผ่นซีดีทั่วไป

สื่อรุ่นใหม่ทั้งสองประเภทไม่ได้มีดีที่ความจุเท่านั้น??สิ่งที่หลายคนคาดหวังกับ Blu-ray และ HD-DVD ก็คือ คุณภาพของภาพที่คมชัดขึ้นกว่าเดิมและให้สีสันสมจริงที่สุดในแบบที่ดีวีดีเองก็ยังเทียบไม่ได้??แต่ก็ใช่ว่าแค่ซื้อแผ่นและเครื่องเล่นรุ่นใหม่แล้วคุณก็จะได้คุณภาพระดับดังกล่าว ถ้าจะเล่นแผ่นระดับนี้ คุณต้องมีโทรทัศน์แบบ High Definition หรือที่เรียกกันว่า HD-TV ด้วย

ความคมชัดของคุณภาพระดับ High-Definition นั้น เชื่อว่าใครได้ชมเป็นต้องติดใจเพราะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับภาพที่เล่นจากแผ่นดีวีดีหรือแผ่นซีดีธรรมดา แต่จะคุ้มค่ากันหรือไม่ อันนี้ผู้บริโภคต้องลองตัดสินใจกันดู????โดยราคาเฉลี่ยของเครื่องเล่น Blu-ray นั้นอยู่ที่เกิน 3 หมื่นบาทขึ้นไป ส่วนเครื่องเล่น HD-DVD นั้นราคาก็ยังอยู่ประมาณ 2 หมื่นบาท นี่ยังไม่รวมค่าแผ่นภาพยนตร์ที่ตกแผ่นละประมาณเกือบๆพันบาท.... แน่นอนว่าสิ่งที่ทุกท่านจะได้กลับมาก็คือ คุณภาพของภาพและระบบเสียงที่สมจริงขึ้น

แต่ความซับซ้อนและปัญหาเกี่ยวกับ Blu-ray และ HD-DVD นั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องราคาที่ยังแพงอยู่ เพราะปัญหาสำคัญก็คือ ทั้งสองค่ายทะเลาะกันมาข้ามปี ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสื่อรุ่นใหม่นี้ได้ลำบากขึ้น เพราะแผ่นแบบ Blu-ray นั้นก็ต้องเล่นเฉพาะบนเครื่องเล่นที่รองรับ Blu-ray เท่านั้น เช่นเดียวกันกับ HD-DVD

สองปีผ่านไป ทั้งสองค่ายก็ยังหาทางสมานฉันท์ไม่ได้??ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวหลายครั้งว่าจะรอมชอมกันได้ และที่จริงเดิมทีซัมซุงและแอลจีก็เคยมีแผนที่จะปล่อยเครื่องเล่นแบบที่รองรับได้ทั้งสองมาตรฐาน แต่ท้ายสุดก็เป็นอันเงียบไป ทำให้ผู้บริโภคต้อง "เสี่ยง" ดวงเอาเอง คือ ถ้าสองค่ายไม่มีใครยอมใครกันจริงๆ แน่นอนว่าในอนาคตย่อมมีหนึ่งมาตรฐานที่ชนะ และอีกหนึ่งค่ายที่แพ้????หากใครเลือกผิดก็เหมือนกับซื้อเครื่องเล่นเอาไว้เป็นของประดับบ้านเฉยๆ นั่นละ!!

สถานการณ์ตอนนี้หากดูกันโดยภาพรวมแล้ว Blu-ray ยังคงได้เปรียบอยู่พอสมควร เพราะค่ายหนังฮอลลีวูดยักษ์ใหญ่ 7 ใน 8 รายให้การสนับสนุนอย่างดี ซึ่งได้แก่ Warner, Paramount, Fox, Disney, Sony, MGM และ Lionsgate มีเพียงค่าย Universal เท่านั้นที่ยังปักใจกับ HD-DVD โดยมี Warner และ Paramount เป็นที่ปันใจเลือกทั้งสองฝั่งเป็นแรงหนุนอีกที นอกจากนี้ Blu-ray ยังมีค่ายผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำคอยดันกันอีกหลายแรง ทั้ง Panasonic, Philips, Samsung, Pioneer, Sharp, JVC, Hitachi, Mitsubishi, LG รวมไปถึงค่ายใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ทั้ง Apple, HP และ Dell เรียกว่าทำให้ฟาก HD-DVD ของโตชิบานั้นสั่นได้ไม่น้อยทีเดียว

แต่ใช่ว่า HD-DVD นั้นจะต้องเป็นฝ่ายแพ้นะ?? ลองฟังชื่อของบริษัทระดับบิ๊กๆ ที่หนุนหลังโตชิบาซะก่อนแล้วค่อยตัดสินใจใหม่ เพราะมีทั้ง NEC, Sanyo พร้อมด้วยคู่หูดูโอวงการคอมพิวเตอร์อย่าง Microsoft และ Intel เรียกว่าทาง Blu-ray เองก็ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

สำหรับใครที่อยากลองของใหม่ ทั้ง Blu-ray และ HD-DVD น่าจะสร้างความตื่นเต้นประทับใจให้ได้ไม่น้อยทีเดียว แต่ถ้าใครชอบความคุ้มค่า Choose IT ของเราขอแนะนำว่า ... รอไปก่อน รอจนกว่าเค้าจะทะเลาะกันเสร็จ รอจนกว่าราคาจะเหมาะสมกว่านี้ แล้วค่อยซื้อก็ยังไม่ช้าเกินไป

อย่าลืมนะว่า จะชมภาพยนตร์คมชัดสมจริงระดับ High-Definition ได้นั้น คุณต้องมีโทรทัศน์ HD-TV รุ่นใหม่ที่รองรับการเชื่อมต่อผ่าน HDMI (High Definition Multimedia Interface) แถมยังต้องเสี่ยงเลือกซื้อเครื่องเล่นจากค่ายใดค่ายหนึ่ง และยังต้องคอยระมัดระวังเวลาซื้อแผ่นหนังให้ตรงกับชนิดของเครื่องเล่นอีก ที่สำคัญราคาของแผ่นหนังฟอร์แมตใหม่นั้นยังมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งอาจยังไม่คุ้มนักหากไม่ได้เป็นคนที่รักการชมภาพยนตร์แบบจริงจัง

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญก็คือ เทคโนโลยีใหม่ทั้งสองประเภทนั้นมาพร้อมกับการปกป้องลิขสิทธิ์แบบเข้มงวดมาก ตั้งแต่การเชื่อมต่อแบบ HDMI ซึ่งรองรับการเข้ารหัสปกป้องลิขสิทธิ์ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยี AACS ที่ทำให้แผ่นเหล่านี้ไม่สามารถเล่นกับซอฟต์แวร์ฟรีบนพีซีได้อย่างสะดวก หากใครนิยมแผ่นผีซีดีเถื่อนละก็ ต้องเตรียมตัวผิดหวังไว้ได้เลยล่ะ

ถ้าชอบดูหนัง .. ก็คงต้องเลือก Blu-ray เพราะมีค่ายหนังดังสนับสนุนเพียบ แต่ถ้าชอบความคุ้มค่าราคาประหยัดกว่า ก็คงต้องเป็น HD-DVD..... แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด อย่าเพิ่งซื้อ รออีกซักนิดจนกว่าทิศทางในตลาดจะชัดเจน รับรองว่ายังไม่สายเกินไป

ที่มา: Tricast.tv

^ ^ เที่ยวไป เขียนไป ออกไปมองโลกใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นด้วยสายตาตัวเอง ^ ^
เยี่ยมชมเว็บไซต์ของสมาชิกท่านนี้ ค้นหาข้อความทั้งหมดของสมาชิกท่านนี้
อ้างถึงข้อความนี้ในการตอบกระทู้
Sat, 16 Jun 07, 11:38
Post: #2
RE: Blu-ray vs HD-DVD
เห็นเดี๋ยวนี้ Notebook บางค่ายก็ใส่ BD-ROM ไปในสเป็คแล้วล่ะครับ โปรแกรม PowerDVD ก็เป็นแบบ Support บลูเรย์แล้วด้วย สงสัยน่าจะต้องเอียงไปทาง Blu-ray แล้วล่ะมั๊ง

^ ^ เที่ยวไป เขียนไป ออกไปมองโลกใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นด้วยสายตาตัวเอง ^ ^
เยี่ยมชมเว็บไซต์ของสมาชิกท่านนี้ ค้นหาข้อความทั้งหมดของสมาชิกท่านนี้
อ้างถึงข้อความนี้ในการตอบกระทู้
Mon, 18 Feb 08, 22:58
Post: #3
ตลาดยิ้มรับโตชิบาถอยทัพ HD-DVD
   
Edited - นักลงทุนส่งสัญญาณแง่บวก รับท่าทียกธงขาวในศึกชิงตำแหน่งดีวีดีเจเนอเรชันหน้าของโตชิบา มูลค่าหุ้นโตชิบาและผู้ชนะอย่างโซนี่เพิ่มขึ้นทั้งคู่ นักวิเคราะห์เชื่อการยอมแพ้จะไม่สร้างแผลใจให้โตชิบามากนัก แม้การรื้อถอนสายการผลิตสินค้าตระกูล HD-DVD จะสร้างความเสียหายให้โตชิบาและพันธมิตรหลายหมื่นล้านเยน ด้านสื่อญี่ปุ่นรายงานว่าโตชิบาจะหันไปใส่ใจกับธุรกิจชิปหน่วยความจำให้มากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสสดใสในตลาดรออยู่

โตชิบานั้นยังไม่แถลงการณ์เลิกสายการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเอชดี ดีวีดี (HD DVD) อย่างเป็นทางการในขณะนี้ แต่รายงานจากสื่อต่างประเทศเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาอ้างแหล่งข่าวนิรนาม ระบุว่าโตชิบากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปิดธุรกิจเอชดี ดีวีดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากสตูดิโอค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์และกลุ่มผู้ค้าปลีกหันไปให้ความสนับสนุนฟอร์แม็ตบลู-เรย์ (Blu-ray) มากขึ้น

แห่สนับสนุนบลู-เรย์

เอชดี ดีวีดีหรือ High-Definition DVD ของโตชิบาและบลู-เรย์ของโซนี่ คือคู่แข่งเพื่อแย่งชิงกันเป็นฟอร์แม็ตมาตรฐานสื่อบันทึกข้อมูลยุคถัดจากดีวีดี ทั้งสองเทคโนโลยีเริ่มแข่งขันทันทีที่ความจุของแผ่นดีวีดีในปัจจุบันนั้นมีวี่แววว่าจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับปริมาณข้อมูลความบันเทิงที่เพิ่มมากขึ้น ความจุมหาศาล คุณภาพเหนือชั้นในการเล่นไฟล์มัลติมีเดีย และราคาที่สูงกว่าดีวีดีล้วนมีอยู่ในทั้งสองฟอร์แม็ต แต่ด้วยความที่สองเทคโนโลยีไม่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันบนเครื่องเล่นเดียวกันได้ มหกรรมการเลือกข้างจึงเกิดขึ้น ข่าวคราวค่ายภาพยนตร์ ค่ายผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นมัลติมีเดีย และค่ายผู้ค้าปลีกเลือกสนับสนุนฟอร์แม็ตใดล้วนได้รับความสนใจ เพราะฝ่ายใดที่มีผู้สนับสนุนมากกว่า ฝ่ายนั้นคือผู้ชนะ

ที่ผ่านมา ผู้ผลิตภาพยนตร์ในฮอลลีวูดและบริษัทผู้ค้าปลีกนั้นตัดสินใจประกาศตัวเข้าฝ่ายบลู-เรย์ของโซนี่มากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากจุดเด่นความจุข้อมูลที่เหนือกว่าเอชดี ดีวีดีหลายขุมแม้ราคาจะแพงกว่า โดยผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อเมริกันอย่างวอล์มาร์ท (Wal-Mart) คือรายล่าสุดที่ประกาศสนับสนุนฟอร์แม็ตบลู-เรย์

สำนักข่าวเอเอฟพีวิเคราะห์ว่าลางร้ายบอกเหตุอวสานเอชดี ดีวีดีนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่วอร์เนอร์บราเดอร์ส (Warner Brothers) เจ้าของคอนเทนท์ดีวีดีรายใหญ่ที่สุดในฮอลลีวูดประกาศย้ายข้างจากเอชดี ดีวีดีไปหาบลู-เรย์ ทิ้งให้ไมโครซอฟท์ อินเทล ยูนิเวอร์แซล และพาราเมาท์ เป็นผู้สนับสนุนเอชดี ดีวีดีรายหลักต่อไป

หลังจากวอล์มาร์ทประกาศสนับสนุนบลู-เรย์ บริษัทผู้ค้าปลีกอย่างเบสต์บาย (Best Buy) และผู้ให้บริการเช่าภาพยนตร์อย่างบล็อคบัสเตอร์ (Blockbuster) และเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ก็เลือกข้างบลู-เรย์ด้วยเช่นกัน

ชัยชนะของบลู-เรย์ในวันนี้ถูกมองว่าเป็นการแก้มือหลังจากที่ฟอร์แม็ตเบต้าแม็กซ์ (Betamax) ของโซนี่พ่ายแพ้ให้กับฟอร์แม็ตวีเอชเอส (VHS) ของพานาโซนิก ในศึกมาตรฐานวีดีโอคาสเซ็ตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

สงบศึกดีกว่า

รายงานสื่อต่างประเทศบางรายคาดการณ์ว่า โตชิบาอาจต้องขาดทุนหลายหมื่นล้านเยนหากตัดสินใจเลิกผลิตเอชดี ดีวีดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความหวั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งเชื่อว่าการตัดเนื้อร้ายทิ้งไปจะเป็นผลดีต่อโตชิบาในระยะยาว โดยหุ้นของโตชิบาพุ่งขึ้นราว 6.38 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หุ้นโซนี่เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 2.47 เปอร์เซ็นต์

โตชิบานั้นเคยออกมาแถลงยอมรับว่า การตัดสินใจขายภาพยนตร์ฟอร์แม็ตบลู-เรย์ของวอร์เนอร์บราเดอร์ อาจส่งผลต่อยอดขายของโตชิบาในอนาคต ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่ายิ่งศึกชิงตำแหน่งมาตรฐานดีวีดียืดเยื้อนานเท่าไร ตลาดเครื่องเล่นดีวีดีความละเอียดสูงหรือ high-definition DVD player ก็จะแคระแกรนนานเท่านั้น เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรอดูว่าใครคือผู้ชนะ จึงจะควักกระเป๋าซื้อ ทุกปัจจัยเอื้อให้โตชิบาตัดสินใจยกธงขาวแต่โดยดี

นักวิเคราะห์ยูอิจิ อิชิดะ ของบริษัทที่ปรึกษานักลงทุนมิซุโฮะ (Mizuho Investors Securities) เป็นอีกรายที่เชื่อว่าการถอยทัพครั้งนี้ของโตชิบาจะเป็นผลดีมากกว่าเสีย โดยมั่นใจว่าโตชิบาจะสามารถยืนหยัดได้ในฐานะการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องเล่น แทนการเป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นทั้งชุด

หนังสือพิมพ์นิคเคอิเดลีอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนาม ระบุว่าโตชิบามีแผนสร้างโรงงานผลิตแฟลชเมมโมรี่ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่นช่วงเดือนมีนาคม ปี 2009 โดยจะร่วมทุนกับแซนดิสก์ (SanDisk) สัญชาติอเมริกัน เม็ดเงินลงทุนรวม 1.67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะยังไม่มีรายงานความเห็นจากโตชิบาในขณะนี้ แต่รายงานดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงว่า ธุรกิจแฟลชเมมโมรี่คือธุรกิจเป้าหมายใหม่ของโตชิบาแล้วเรียบร้อย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

^ ^ เที่ยวไป เขียนไป ออกไปมองโลกใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นด้วยสายตาตัวเอง ^ ^
เยี่ยมชมเว็บไซต์ของสมาชิกท่านนี้ ค้นหาข้อความทั้งหมดของสมาชิกท่านนี้
อ้างถึงข้อความนี้ในการตอบกระทู้
Tue, 02 Dec 08, 21:44
Post: #4
ไพโอเนียร์โชว์แผ่นบลูเรย์ 16 เลเยอร์ 400GB ที่ไต้หวัน
   
ไพโอเนียร์ (Pioneer) โชว์ตัวแผ่นบลูเรย์ดิสก์ความจุ 400GB ในงาน IT Month ซึ่งจัดขึ้นที่ไต้หวัน ฝรั่งเรียกดิสก์ความจุมหาศาลนี้ว่าแผ่นดิสก์ซูเปอร์มัลติเลเยอร์ เพราะการออกแบบสถาปัตยกรรมเก็บข้อมูลบน 16 เลเยอร์ เลเยอร์ละ 25GB คูณกันแล้วเท่ากับ 400GB พอดี โดยทั้ง 16 เลเยอร์รวมอยู่บนแผ่นบลูเรย์ดิสก์ข้างเดียว

นี่เป็นการโชว์ตัวผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการหลังจากไพโอเนียร์เปิดตัวเทคโนโลยีครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา งานนี้ Pioneer High Fidelity Taiwan ซึ่งมีสำนักงานในไต้หวันนั้นให้ข้อมูลว่า ดิสก์ดังกล่าวยังเป็นชนิดอ่านอย่างเดียว ใช้เทคโนโลยี Blu-ray Disc เป็นพื้นฐาน เพิ่มความสามารถในการจัดการข้อมูลแบบเลเยอร์ที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม สามารถใช้งานกับเครื่องเล่นบลูเรย์ได้

ความสามารถในการเก็บข้อมูล 400GB บนดิสก์ 16 เลเยอร์นั้นมีสัดส่วนเทียบเท่ากับแผ่นบลูเรย์ 50GB ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้ ซึ่งออกแบบให้เก็บข้อมูล 25GB บน 2 เลเยอร์

งานนี้ไพโอเนียร์ให้ข้อมูลแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่า จะยังคงให้ผลิตภัณฑ์ดิสก์ความจุมหาศาลเป็นหน่วยความจำอ่านอย่างเดียวไปจนถึงปี 2010 เชื่อว่าจะวางจำหน่ายดิสก์เขียนซ้ำได้หรือ RW ในปี 2010-2012 โดยจะพยายามพัฒนาให้แผ่นดิสก์มีความจุถึงหลัก 1TB (1TB เท่ากับ 1,000GB) ให้ได้ในปี 2013

ข้อมูลระบุว่า ไพโอเนียร์กำลังพยายามพัฒนาดิสก์ 500GB บน 20 เลเยอร์ในขณะนี้

สำหรับงาน IT Month หรือ Information Technology Month นั้นเป็นงานแสดงเทคโนโลยีซึ่งจัดขึ้นที่ Taipei World Trade Centre ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม 2008 โดยมีบริษัทไอทีกว่า 350 บริษัททั้งสัญชาติไต้หวันและจากต่างประเทศตบเท้าเข้าร่วมงาน คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 2 ล้านคน

ที่มา: ManagerOnline

^ ^ เที่ยวไป เขียนไป ออกไปมองโลกใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นด้วยสายตาตัวเอง ^ ^
เยี่ยมชมเว็บไซต์ของสมาชิกท่านนี้ ค้นหาข้อความทั้งหมดของสมาชิกท่านนี้
อ้างถึงข้อความนี้ในการตอบกระทู้
Thu, 26 Feb 09, 20:57
Post: #5
พานาโซนิก ฟิลิปส์ โซนี่ เล็งออกไลเซนส์ Blu-ray แบบเหมาจ่าย
ท่ามกลางความหวังให้แผ่น, ภาพยนตร์, เกม และเครื่องเล่นบลูเรย์ (Blu-Ray) มีราคาถูกลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อหาได้อย่างสบายใจ ล่าสุดสามยักษ์ใหญ่ผู้สนับสนุนมาตรฐานบลูเรย์อย่างพานาโซนิก (Panasonic), ฟิลิปส์ (Philips) และ โซนี่ (Sony) ระบุว่ากำลังทำงานร่วมกับสมาชิกผู้สนับสนุนมาตรฐานบลูเรย์รายอื่นเพื่อออกเป็นไลเซนส์หรือลิขสิทธิ์การผลิตสินค้าเทคโนโลยีบลูเรย์แบบเหมาจ่ายครบวงจร เชื่อว่าจะสามารถให้ไลเซนส์เหมาจ่ายนี้ได้ภายในกลางปีนี้

การให้ไลเซนส์บลูเรย์ครบวงจรเชื่อว่าจะทำให้สินค้าบลูเรย์ทุกชนิดมีราคาถูกลง เนื่องจากปัจจุบัน การผลิตสินค้าบลูเรย์จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เทคโนโลยีตามชนิดที่ผลิต เช่น บริษัทต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ 9.50 เหรียญสหรัฐหากต้องการผลิตเครื่องเล่นบลูเรย์ (ราว 320 บาทต่อเครื่อง) หรือต้องชำระเงิน 14 เหรียญ (462 บาทต่อเครื่อง) หากต้องการผลิตเครื่องบันทึกดีวีดี แต่หากต้องการผลิตซีดีบลูเรย์ชนิดอ่านอย่างเดียว จะต้องชำระค่าลิขสิทธิ์ 0.11 เหรียญต่อแผ่น (ประมาณ 3.65 บาท) โดยต้องเพิ่มเงินเป็น 0.12 เหรียญ (ประมาณ 4 บาท) หากต้องการผลิตซีดีบลูเรย์แบบเขียนได้ ซึ่งการให้ไลเซนส์แบบเหมาจ่ายครบทุกผลิตภัณฑ์จะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ผลิตสินค้าบลูเรย์แบบครบวงจรลดลงได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

การให้ลิขสิทธิ์แบบเหมารวมนี้เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการขยายตลาดบลูเรย์ เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์ที่ยิบย่อยทำให้สินค้าบลูเรย์มีจำนวนน้อยในตลาดและมีราคาแพง ซึ่งเมื่อต้นทุนด้านลิขสิทธิ์เทคโนโลยีลดลง ผู้ผลิตก็จะมีความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าหลายชนิดบนเทคโนโลยีบลูเรย์ และสามารถตั้งราคาขายได้ถูกลง ตามข้อมูลที่บอกว่าไลเซนส์ครบวงจรจะทำให้ผู้ผลิตประหยัดค่าไลเซนส์ลงได้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์

รายงานระบุว่า การให้ไลเซนส์ผลิตภัณฑ์บลูเรย์ครบวงจรจะดำเนินการโดยบริษัทใหม่ ซึ่งจะเป็นบริษัทอิสระสำหรับจัดการธุรกิจไลเซนส์บลูเรย์โดยเฉพาะ เชื่อว่าจะมีการตั้งสาขาในสหรัฐฯ เอเชีย ยุโรป และลาตินอเมริกา โดยซีอีโอที่จะมารับผิดชอบบริษัทจัดการธุรกิจไลเซนส์บลูเรย์คือ Gerald Rosenthal อดีตผู้บริหารไอบีเอ็มซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโอกลุ่ม Open Invention Network ในปัจจุบัน

นอกจากจะมั่นใจว่าการให้ราคาไลเซนส์บลูเรย์เหมาจ่ายครั้งนี้จะทำให้ตลาดบลูเรย์ขยายตัว Rosenthal ยังเชื่อว่าโครงการนี้จะส่งเสริมให้บริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายอื่นให้ความสนใจที่จะมาเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีบลูเรย์ ซึ่งจะได้ส่วนแบ่งจากรายได้ค่าลิขสิทธิ์ที่เก็บได้ด้วย โดยผู้ที่ถือลิขสิทธิ์สำหรับผลิตดิสก์บลูเรย์, ดีวีดี และซีดี ล้วนได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนบลูเรย์แล้วในขณะนี้

ที่มา: ManagerOnline

^ ^ เที่ยวไป เขียนไป ออกไปมองโลกใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นด้วยสายตาตัวเอง ^ ^
เยี่ยมชมเว็บไซต์ของสมาชิกท่านนี้ ค้นหาข้อความทั้งหมดของสมาชิกท่านนี้
อ้างถึงข้อความนี้ในการตอบกระทู้
ตอบกระทู้ 


** ข้อแตกต่างระหว่างการตอบกระทู้โดยใช้กล่อง comment ของ Facebook กับกล่องตอบข้อความของทางเว็บ


ไปยังหัวข้อ:


ผู้ที่กำลังดูกระทู้นี้: 1 ผู้เยี่ยมชม