Edited - นักลงทุนส่งสัญญาณแง่บวก รับท่าทียกธงขาวในศึกชิงตำแหน่งดีวีดีเจเนอเรชันหน้าของโตชิบา มูลค่าหุ้นโตชิบาและผู้ชนะอย่างโซนี่เพิ่มขึ้นทั้งคู่ นักวิเคราะห์เชื่อการยอมแพ้จะไม่สร้างแผลใจให้โตชิบามากนัก แม้การรื้อถอนสายการผลิตสินค้าตระกูล HD-DVD จะสร้างความเสียหายให้โตชิบาและพันธมิตรหลายหมื่นล้านเยน ด้านสื่อญี่ปุ่นรายงานว่าโตชิบาจะหันไปใส่ใจกับธุรกิจชิปหน่วยความจำให้มากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสสดใสในตลาดรออยู่
โตชิบานั้นยังไม่แถลงการณ์เลิกสายการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเอชดี ดีวีดี (HD DVD) อย่างเป็นทางการในขณะนี้ แต่รายงานจากสื่อต่างประเทศเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาอ้างแหล่งข่าวนิรนาม ระบุว่าโตชิบากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปิดธุรกิจเอชดี ดีวีดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากสตูดิโอค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์และกลุ่มผู้ค้าปลีกหันไปให้ความสนับสนุนฟอร์แม็ตบลู-เรย์ (Blu-ray) มากขึ้น
แห่สนับสนุนบลู-เรย์
เอชดี ดีวีดีหรือ High-Definition DVD ของโตชิบาและบลู-เรย์ของโซนี่ คือคู่แข่งเพื่อแย่งชิงกันเป็นฟอร์แม็ตมาตรฐานสื่อบันทึกข้อมูลยุคถัดจากดีวีดี ทั้งสองเทคโนโลยีเริ่มแข่งขันทันทีที่ความจุของแผ่นดีวีดีในปัจจุบันนั้นมีวี่แววว่าจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับปริมาณข้อมูลความบันเทิงที่เพิ่มมากขึ้น ความจุมหาศาล คุณภาพเหนือชั้นในการเล่นไฟล์มัลติมีเดีย และราคาที่สูงกว่าดีวีดีล้วนมีอยู่ในทั้งสองฟอร์แม็ต แต่ด้วยความที่สองเทคโนโลยีไม่สามารถนำมาใช้งานร่วมกันบนเครื่องเล่นเดียวกันได้ มหกรรมการเลือกข้างจึงเกิดขึ้น ข่าวคราวค่ายภาพยนตร์ ค่ายผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นมัลติมีเดีย และค่ายผู้ค้าปลีกเลือกสนับสนุนฟอร์แม็ตใดล้วนได้รับความสนใจ เพราะฝ่ายใดที่มีผู้สนับสนุนมากกว่า ฝ่ายนั้นคือผู้ชนะ
ที่ผ่านมา ผู้ผลิตภาพยนตร์ในฮอลลีวูดและบริษัทผู้ค้าปลีกนั้นตัดสินใจประกาศตัวเข้าฝ่ายบลู-เรย์ของโซนี่มากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากจุดเด่นความจุข้อมูลที่เหนือกว่าเอชดี ดีวีดีหลายขุมแม้ราคาจะแพงกว่า โดยผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อเมริกันอย่างวอล์มาร์ท (Wal-Mart) คือรายล่าสุดที่ประกาศสนับสนุนฟอร์แม็ตบลู-เรย์
สำนักข่าวเอเอฟพีวิเคราะห์ว่าลางร้ายบอกเหตุอวสานเอชดี ดีวีดีนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่วอร์เนอร์บราเดอร์ส (Warner Brothers) เจ้าของคอนเทนท์ดีวีดีรายใหญ่ที่สุดในฮอลลีวูดประกาศย้ายข้างจากเอชดี ดีวีดีไปหาบลู-เรย์ ทิ้งให้ไมโครซอฟท์ อินเทล ยูนิเวอร์แซล และพาราเมาท์ เป็นผู้สนับสนุนเอชดี ดีวีดีรายหลักต่อไป
หลังจากวอล์มาร์ทประกาศสนับสนุนบลู-เรย์ บริษัทผู้ค้าปลีกอย่างเบสต์บาย (Best Buy) และผู้ให้บริการเช่าภาพยนตร์อย่างบล็อคบัสเตอร์ (Blockbuster) และเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ก็เลือกข้างบลู-เรย์ด้วยเช่นกัน
ชัยชนะของบลู-เรย์ในวันนี้ถูกมองว่าเป็นการแก้มือหลังจากที่ฟอร์แม็ตเบต้าแม็กซ์ (Betamax) ของโซนี่พ่ายแพ้ให้กับฟอร์แม็ตวีเอชเอส (VHS) ของพานาโซนิก ในศึกมาตรฐานวีดีโอคาสเซ็ตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
สงบศึกดีกว่า
รายงานสื่อต่างประเทศบางรายคาดการณ์ว่า โตชิบาอาจต้องขาดทุนหลายหมื่นล้านเยนหากตัดสินใจเลิกผลิตเอชดี ดีวีดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความหวั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งเชื่อว่าการตัดเนื้อร้ายทิ้งไปจะเป็นผลดีต่อโตชิบาในระยะยาว โดยหุ้นของโตชิบาพุ่งขึ้นราว 6.38 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หุ้นโซนี่เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 2.47 เปอร์เซ็นต์
โตชิบานั้นเคยออกมาแถลงยอมรับว่า การตัดสินใจขายภาพยนตร์ฟอร์แม็ตบลู-เรย์ของวอร์เนอร์บราเดอร์ อาจส่งผลต่อยอดขายของโตชิบาในอนาคต ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่ายิ่งศึกชิงตำแหน่งมาตรฐานดีวีดียืดเยื้อนานเท่าไร ตลาดเครื่องเล่นดีวีดีความละเอียดสูงหรือ high-definition DVD player ก็จะแคระแกรนนานเท่านั้น เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรอดูว่าใครคือผู้ชนะ จึงจะควักกระเป๋าซื้อ ทุกปัจจัยเอื้อให้โตชิบาตัดสินใจยกธงขาวแต่โดยดี
นักวิเคราะห์ยูอิจิ อิชิดะ ของบริษัทที่ปรึกษานักลงทุนมิซุโฮะ (Mizuho Investors Securities) เป็นอีกรายที่เชื่อว่าการถอยทัพครั้งนี้ของโตชิบาจะเป็นผลดีมากกว่าเสีย โดยมั่นใจว่าโตชิบาจะสามารถยืนหยัดได้ในฐานะการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องเล่น แทนการเป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นทั้งชุด
หนังสือพิมพ์นิคเคอิเดลีอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนาม ระบุว่าโตชิบามีแผนสร้างโรงงานผลิตแฟลชเมมโมรี่ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่นช่วงเดือนมีนาคม ปี 2009 โดยจะร่วมทุนกับแซนดิสก์ (SanDisk) สัญชาติอเมริกัน เม็ดเงินลงทุนรวม 1.67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะยังไม่มีรายงานความเห็นจากโตชิบาในขณะนี้ แต่รายงานดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงว่า ธุรกิจแฟลชเมมโมรี่คือธุรกิจเป้าหมายใหม่ของโตชิบาแล้วเรียบร้อย
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์