“สุขภาพดี” คือสุดยอดปรารถนาของการใช้ชีวิต เพราะเมื่อเรามีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เบิกบาน การจะทำกิจการงานใดก็ย่อมเป็นไปได้เสมอ อีกหนึ่งนทางที่จะทำให้เรามีสุขภาพดีได้ก็คือการทานอาหารนั่นเอง แม้ปัจจุบันจะมีเทรนด์การทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากมาย แต่อีกหนึ่งเทรนด์ที่เป็นที่พูดถึงอยู่ก็คือ อาหารจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร หรือ
From farm to table
Farm-to-Table คือ การที่ผู้ผลิตหรือเกษตรกรนำพืชผักที่ปลูกขึ้นเองหรือเนื้อสัตว์ที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงดูแบบไร้สารเคมีนำมาปรุงในสไตล์โฮมเมดแล้วเสิร์ฟให้กับลูกค้าได้ทานแบบสดใหม่วันต่อวัน อร่อยสดจากธรรมชาติแท้ๆ โดยเป็นอาหารที่ดีต่อร่างกาย เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันตามวิถีการเกษตรแบบอินทรีย์ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปราศจากการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้สารเคมีมั่นใจได้ว่าเราจะได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน
นอกจากนี้อาหารประเภท Farm-to-Table ยังเน้นการปลูกพืชผักตามฤดูกาลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตามวัฎจักรชีวิตซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและความยั่งยืนด้านอาหารในอนาคต ราคาไม่แพงเท่าผักนอกฤดูกาลอีกด้วย
เชื่อไหมว่าคนไทยใช้จ่ายด้านอาหารเยอะเกือบ 2 ล้านล้านบาทเลย โดยข้อมูลจาก Euromonitor เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย ปี 2560 พบว่าคนไทยหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารมากที่สุดถึง 21.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก หรือราว 1.3 ล้านตัน/ปี กลายเป็นขยะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร และที่สำคัญคือเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และพลังงานโดยไม่จำเป็น
Farm-to-Table จึงทำให้เกษตรกรไม่ได้มีหน้าที่เพียงเพาะปลูกหรือผลิตวัตถุดิบเท่านั้น แต่ยังนำพืชพรรณหรือเนื้อสัตว์ที่ได้มาปรุงในจุดเดียวกันหรือใกล้กับฟาร์มของตัวเองและเสิร์ฟถึงมือผู้บริโภคโดยตรงในปริมาณที่พอเพียงกับศักยภาพที่มี อาหารที่เราได้รับจึงสดใหม่ ไม่ต้องสิ้นเปลืองกับบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียเชื้อเพลิงและคุณภาพอาหาร ลดขั้นตอนและเวลาการส่งมอบระหว่างผู้ผลิตถึงผู้บริโภค และหากมีอาหารเหลือก็สามารถนำไปใช้ทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย
การผลิตและจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียงแบบ Farm-to-Table ยังมีลักษณะความยั่งยืน (Sustainability) ช่วยสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง ราคาไม่ต้องผ่านคนกลาง ส่งเสริมให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น มีการจ้างงานในธุรกิจอาหารและบริการโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ช่วยลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานเข้าสู่เมืองหลวงได้มาก
ลงมือทำ Farm-to-Table ที่บ้านเนอวานา
Farm-to-Table ไม่ได้มีแต่เฉพาะธุรกิจด้านอาหารเท่านั้น ในภาคครัวเรือนก็สามารถทำได้เช่นกัน เราสามารถนำมาปลูกที่รั้วบาน ริมระเบียงได้อีกด้วย โดยอาจจะปลูกที่แนวรั้วสำหรับผักประเภทที่ปลูกแล้วมีผลเก็บกินได้ตลอดทั้งปี เช่น มะระ แตงกวา ตำลึง และปลูกในกระถางสำหรับผักที่มีอายุสั้น เก็บกินและปลูกใหม่หมุนเวียนเรื่อยๆ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ใบกะเพรา พริก ทำให้เราได้วัตถุดิบในการทำอาหารที่สดใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เมนูจานโปรดและร่วมรับประทานอาหารด้วยความอิ่มเอมกายและหัวใจ สมกับเป็นความสุขกินได้ที่แสนมหัศจรรย์