ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุน
ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน พบในหญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผุ้สูงอายุทั้งชายและหญิง ทำให้กระดูก ขาดความแข็งแรงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักแม้เกิดจากแรงเพียงเล็กน้อยได้ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ด้วยอาการ ปวดหลัง เกิดหลังจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งรถตกหลุม นั่งกระแทกบนโซฟา หรือก้มยกของ เป็นต้น และในบางรายอาจไม่พบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการ ผู้ป่วยเพียงแต่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติก็สามารถเกิดภาวะกระดูกสันหลังหัก ยุบในโรคกระดูกพรุนได้
โรงพยาบาลธนบุรี ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบใน โรคกระดูกพรุน ดังนี้
อาการเบื้องต้น ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณกลางหลังตรงตำแหน่งที่มีการหักยุบ โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ เช่นพลิกตะแคงตัวในท่านอน ลุกจากนอนมานั่ง ลุกจากนั่งมายืน บิดตัว ก้มและเงย เป็นต้น เนื่องจากมีการขยับและเสียดสีกันของกระดูกที่หัก
นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลาที่กระดูกสันหลังรับน้ำหนัก เช่น ในท่านั่ง ยืน หรือเดินอาการปวดหลังอาจมีเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวติประจำวันได้ หรือปวดมากจนผู้ป่วยไม่สามารถลุกนั่ง ยืน หรือเดินได้ ต้องนอนอยู่ตลอดเวลา หากมีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังอาจไปกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท จะทำให้มีอการชา อ่อนแรงของขา หรือทำให้ไม่สามารถควบุมการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะได้
การวินิจฉัย ทำได้โดยการซักประวัติอาการปวด ตรวจร่างกายบริเวณกระดูกสันหลัง และถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ ภาพเอ็กซ์เรย์จะพบกระดูกสันหลังบาง และมีการหักยุบ อาจพบว่ามีหักยุบหลายปล้อง ซึ่งบางปล้องอาจเป็นการหักยุบในอดีตซึ่งกระดูกได้ติดแล้วและไม่ทำให้เกิดอาการปวด ดังนั้นจะต้องหาปล้องที่มีการหักยุบในครั้งนี้ ซึ่งจะตรงกับตำแหน่งที่มีอาการเจ็บ
การตรวจภาวะกระดูกพรุน สามารถทำได้โดยการตรวจมวลกระดูกด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์
การรักษาเบื้องต้นได้แก่
1. การพักโดยการจำกัดกิจกรรม ให้ผู้ป่วยนอนพักในระยะแรก และลุกนั่งยืนเดินเท่าที่จำเป็น เช่น ลุกนั่งทานข้าว ยืนเดินไปเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
2. ใส่เสื้อพยุงหลังที่เหมาะสม โดยทั่วไปต้องใช้ตัวที่ยาวจากสะโพกถึงไหล่จึงจะสามารถประคองกระดูกที่หักและลดการเคลื่อนไหวของกระดุกที่หักได้ ทำให้มีอาการปวดน้อยลงและลดการยุบเพิ่มขึ้นของกระดูกสันหลังได้ โดยให้ใส่ตลอดเวลาที่มีการทำกิจกรรม เช่น ลุกนั่ง ยืน เดิน เป็นต้น สามารถถอดออกได้เวลานอน หรืออาบน้ำ
3. ให้ยาแก้ปวด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นได้
4. ให้แคลเซี่ยม และวิตามินดี เพื่อช่วยการสมานตัวของกระดูก
5. ให้ยาฮอร์โมน Calcitonin ชนิดพ่นจมูก ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากกระดูกสันหลังหักยุบ และยังช่วยในการสมานตัวของกระดูกด้วย
6. นอกจากนี้ผู้ป่วยควรบริหารแขนขา โดยการขยับแขนขา อยู่เสมอแม้ในท่านอนเพื่อลดการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อจากการใช้งานที่น้อยลง และช่วยการไหลเวียนโลหิตด้วย และบริหารปอดโดยการหายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ เพื่อป้องกันภาวะปอดฟุยแฟบจากการนอนนาน
โดยทั่วไปอาการปวดจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และอาการปวดจะหายในเวลา 3 เดือนซึ่งก็คือระยะเวลาที่กระดูกติดนั่นเอง
การรักษาโดยการฉีดซีเมนต์
ในผู้ป่วยบางรายการที่ยังมีอาการปวดมาก ไม่สามารถแม้จะลุกนั่ง ยืน เดิน ได้ หลังจากได้รับการรักษาแล้ว 2 สัปดาห์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นได้ และลดภาวะแทรกซ้อนจาการนอนนาน
ก่อนที่จะทำการรักษาเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจ MRI หรือเอ็กซ์เรย์ แม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่หักยุบ และบอกได้ว่าปล้องใดที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังช่วยในการประเมินการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท และยังสามารถช่วยในการแยกโรคอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบตัวได้ เช่น การติดเชื้อหรือเนื้องอก
โดยการฉีดซีเมนต์ไปยังตำแหน่งที่มีการหักยุบของกระดูกสันหลัง ซึ่งซีเมนต์จะเข้าไปแทรกตามกระดูกทำให้กระดูกที่หักยึดติดกันไม่ขยับ และยังมีความแข็งแรงช่วยรับน้ำหนักตัวได้ ทำให้ไม่มีอาการปวดเวลาขยับตัวหรือเวลา นั่ง ยืน เดิน การรักษาโดยการฉีดซีเมนต์ เป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงน้อย และสามารถทำได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลโดยจะต้องทำที่ห้องผ่าตัด เนื่องจากต้องใช้เตียงที่เอ็กซ์เรย์สามารถผ่านได้ และใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ ช่วยในการระบุตำแหน่งของกระดูกและดูตำแหน่งของเข็มและซีเมนต์ที่ฉีด
หลังการฉีดทำโดยการฉีดยาชาและผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บขณะทำ ใช้เวลาในการทำประมาณ 30 นาที และผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่านอนคว่ำตลอดการฉีด หลังการฉีดผู้ป่วยต้องอยู่ในท่านอนหงายเป็นเวลา 4 ชั่วโมงเพื่อให้ซีเมนต์ที่ฉีดไปแข็งตัวดี จากนั้นผู้ป่วยสามารถลุก นั่ง ยืน เดิน ได้ โดยทั่วไปอาการปวดจะดีขึ้นมากหรือในบางรายจะไม่มีอาการปวดเลย
การฉีดซีเมนต์สามารถทำได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยจะต้องงดยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด เช่น Aspirin ก่อนเป็นเวลา 1 สัปดาห์
สำหรับผู้ป่วยบางรายไม่สามารถรักษาโดยการฉีดซีเมนต์ได้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะดังต่อไปนี้ การติดเชื้อ ภาวะเลือดแข็งตัวยาก โรคหัวใจและปอดทำงานที่เป็นมาก แพ้ซีเมนต์หรือสารทึบรังสี เป็นต้น
การรักษาโดยการผ่าตัด
ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมากและไม่สามารถรักษาโดยการฉีดซีเมนต์ได้แก่ กระดูกยุบตัวมากจนไม่สามารถใส่เข็มเข้าไปได้ มีการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดสามารถแก้ไขภาวะการยุบตัวและโก่งค่อมของกระดูกสันหลังได้ และสามารถขยายช่องไขสันหลังช่วยแก้ไขการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาทได้ ในการผ่าตัดจะต้องดามโลหะยึดกระดูกสันหลังปล้องบนและล่างต่อกระดูกสันหลังปล้องที่มีการหักยุบ ซึ่งจะทำให้กระดูกปล้องที่มีการหักอยู่นิ่ง ไม่ขยับ และทำให้กระดูกสมานติดได้ นอกจากนี้โลหะดามกระดูกยังช่วยในการรับน้ำหนักตัว โดยน้ำหนักจะผ่านไปที่โลหะแทนที่กระดูก ทำให้สามารถขยับตัวและลุกนั่งยืนเดินได้โดยไม่มีอาการปวด
การรักษาโรคกระดูกพรุน
ในผู้ป่วยเหล่านี้อาจเกิดการเป็นซ้ำ คือเกิดกระดูกสันหลังหักยุบได้อีกในกระดูกสันหลังปล้องอื่น ๆ จำเป็นที่จะต้องรักษาโรคกระดูกพรุนเพื่อลดโอกาสการเกิดกระดูกหักในโรคกระดูกพรุน ซึ่งมักพบได้ที่กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ
การรักษาโรคกระดูกพรุนเริ่มด้วยการตรวจมวลกระดูก เพื่อดูความหนาแน่นของกระดูกและสามารถบอกได้ว่ากระดูกพรุนมากน้อยเท่าไร ตรวจเลือดเพื่อดูการสร้างและสลายตัวของกระดูก และดูระดับของวิตามินดี จากนั้นให้การรักษาตามความรุนแรงของโรคโดย
• ให้แคลเซียมและวิตามิน D
• ให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนได้แก่ ยายับยั้งการสลายตัวของกระดูก หรือยาช่วยการสร้างตัวของกระดูกตามความเหมาะสม
• ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายที่มีแรงผ่านกระดูก เช่น การเดิน เป็นต้น
• และป้องกันการล้ม
เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะมีกระดูกที่แข็งแรงลดการเกิดภาวะกระดูกสันหลังหักยุบได้
ข้อมูลโดย โรงพยาบาลธนบุรี ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ โทร 02-412-0020 ต่อ 2005-7
____________________________________________________________
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท พีอาร์เอดี คอมมูนิเคชั่น จำกัด ตัวแทนที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
ขนิษฐา แสงจง (ต้า) Tel. 085-5029499 อีเมลล์ prad.communication@yahoo.com
|