นางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยค่าเงินบาทแข็ง ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย หากย้อนกลับไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าภูมิภาค และหลายครั้งแข็งค่านานกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยการแข็งค่ามาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน จะเห็นว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มีการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และข่าวพัฒนาการของวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้เกิดเงินดอลลาร์อ่อนค่า และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี หากดูเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทย จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ปัจจัย คือ 1.ประเทศไทยมีการลงทุนต่ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน และการลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศ ส่งผลให้ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล โดยหากดูตัวเลขในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเฉลี่ย 8% ของจีดีพี โดยที่มีเงินไหลออกไปลงทุนเพียง 4% ของจีดีพี ถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่มีการเกินดุลฯ 17% ของจีดีพี แต่มีเงินไหลออกสูงถึง 27% ของจีดีพี หรือแม้แต่ไต้หวันที่เกินดุลฯ 13% และมีเงินไหลออกใกล้เคียงกัน
ดังนั้น ปัจจัยการลงทุนน้อยของไทยจึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันทำให้บาทแข็งค่า โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 10% เมื่อเทียบกับไต้หวันที่แข็งค่า 5% และสิงคโปร์ค่าเงินอ่อนค่า โดยสาเหตุที่ไทยลงทุนได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่เอื้อมากนัก เพราะไทยยังคงเข้มงวดกับการให้เงินไหลออก ซึ่งเป็นบทเรียนที่เคยได้รับในวิกฤตปี 2540 ทำให้หลักเกณฑ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามบริบทที่เปลี่ยนไป
2.ผู้ประกอบการไทยมีความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงิน หรือรองรับความผันผวนของค่าเงินได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากความไม่คุ้นเคยกับธุรกรรม และการเข้าถึงบริการที่ยังทำได้จำกัด นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยทั้งผู้ส่งออกและนำเข้ายังไม่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hadging) มากนัก ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่า ผู้ประกอบการส่งออกมีการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินในสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 หรือประมาณ 19% ของมูลค่าส่งออก และผู้นำเข้าป้องกันความเสี่ยงประมาณ 24% ของมูลค่านำเข้า
โดยหากดูไส้ในจะพบว่าบริษัทขนาดใหญ่มีการป้องกันคงามเสี่ยงกว่า 56% ส่วนบริษัทขนาดเล็ก หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีการป้องกันความเสี่ยงเพียง 29% ทั้งนี้ สาเหตุที่เอสเอ็มอีป้องกันความเสี่ยงน้อยมาจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีความรู้เรื่องค่าเงิน ไม่มีความคุ้นเคยกับการป้องกันความเสี่ยง รวมถึงรู้แต่เลือกไม่ทำ เพราะมีต้นทุนที่ค่อนข้างแพง
3.ต้นทุนการทำธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยนสูง โดยค่าธรรมเนียมการแลกเงินและโอนเงินของไทยอยู่ที่ 6.6% ของมูลค่าธุรกรรม ขณะที่ประเทศในภูมิภาคอยู่ที่ 2-4% ของมูลค่าธุรกรรม และบริการส่วนใหญ่กว่า 99% จะเป็นสถาบันการเงิน และอีก 1% จะเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ส่งผลให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับบริการที่หลากหลาย ซึ่งหาก ธปท.สามารถเพิ่มผู้เล่นในตลาดได้จะช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมให้ต่ำลงได้
และ 4.เงินบาทเคลื่อนไหวจากปัจจัยต่างประเทศ เนื่องจากทางการเห็นข้อมูลน้อย ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยากขึ้น ประกอบกับธุรกรรมเงินบาทในตลาดตลาด offshore ที่มีขนาดใหญ่ทำให้ความผันผวนของตลาดการเงินโลกส่งผลต่อค่าเงินบาทได้มากขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมาจากปัจจัยต่างประเทศถึง 85% และจากปัจจัยภายในประเทศ 15%
“ปัจจัย 4 อาการที่กล่าวมา ทำให้เงินบาทของไทยแข็งค่าเร็ว แข็งค่านาน และแข็งค่านำคนอื่นในภูมิภาค เพราะคนไทยลงทุนน้อย ธปท.จึงอยากเห็นคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และผู้ประกอบการลุกขึ้นมาบริหารความเสี่ยงค่าเงิน โดยผลักดันให้เกิดผู้เล่นในตลาดให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุน และ ธปท.อยากเท่าทันข้อมูล จึงเป็นการดูแลผ่าน FX Ecosystem”
นางสาวภาวิณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ธปท.จำเป็นต้องดำเนินการผ่านโครงสร้างระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยน หรือ FX Ecosystem โดยจะมีอยู่ 4 หมวดใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ 1.FX Investment Ecosystem สนับสนุนให้เกิดสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายผ่านการลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น โดยสนับสนุนให้คนไทยลงทุนได้ง่ายขึ้น ทั้งการลงทุนโดยตรงของผู้ประกอบการ และการลงทุนหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน
2.FX Regulatory Framework ปรับเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายให้สมดุลมากขึ้นและเอื้อให้การทำธุรกรรมง่ายขึ้น โดยปรับเปลี่ยนให้ทันบริบทที่เปลี่ยนไป 3.Service Provider Landscape สนับสนุนการแข่งขันของผู้ให้บริการจากเดิมผู้เล่นหลักจะเป็นสถาบันการเงิน จึงเปิดให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเพิ่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการเข้าถึงของรายย่อย และขยายขอบเขตการทำธุรกรรม เพื่อให้เกิดการแข่งขัน
และ 4.Surveillance & Management ยกระดับการติดตามข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เล่นในตลาด เพื่อเอื้อต่อการดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น
ที่เกี่ยวข้อง:
แผนการเล่น Forex ให้ได้เงิน