ThaiBuddyTrip.com - เว็บคู่หูของคนชอบเที่ยว
นิสสัน เทียน่า 2.0 เกาะถนนยิ่งขึ้น แรงสมตัว - Printable Version

+- ThaiBuddyTrip.com - เว็บคู่หูของคนชอบเที่ยว (http://www.thaibuddytrip.com/forum)
+-- Forum: ประสบการณ์อื่นๆ (/forumdisplay.php?fid=1)
+--- Forum: ยานยนต์ Auto (/forumdisplay.php?fid=9)
+---- Forum: นิสสัน (/forumdisplay.php?fid=43)
+---- Thread: นิสสัน เทียน่า 2.0 เกาะถนนยิ่งขึ้น แรงสมตัว (/showthread.php?tid=715)



นิสสัน เทียน่า 2.0 เกาะถนนยิ่งขึ้น แรงสมตัว - Nobita - Sat, 13 Jun 09 19:40

[attachment=1926]

ทำความรู้จักนิสสัน เทียน่า 2.0 กับผู้จัดการมอเตอริ่งกันหน่อยนะครับ

ต่อเนื่องจากการนำเสนอบททดสอบ นิสสัน “เทียน่า” โฉมใหม่ ของทีมงาน ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง โดยครั้งนี้เราจะเน้นมาทางเรื่องของรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร และระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ใหม่ ที่นิสสันเคลมในโฆษณาทางทีวีว่า “เป็นครั้งแรกที่คุณจะได้สัมผัสเกียร์แบบนี้”

ทว่าในความเป็นจริงแล้วประชาชนผู้ใช้รถชาวไทยมีโอกาสสัมผัสและใช้ระบบเกียร์ CVT มานานกว่า 5 ปีแน่นอน ในรถอย่าง ฮอนด้า แจ๊ส หรือรถหรูอย่าง โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ และรถรุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่น ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหรือหวือหวาไปตามคำโฆษณา

มาเข้าเรื่องของระบบเกียร์ CVT ของนิสสัน ซึ่งทางทีมงานอธิบายว่า เป็นระบบ Xtronic CVT รุ่นใหม่ล่าสุด เวอร์ชั่น 3.5 หลักการทำงานเฉกเช่นเกียร์ CVT ทั่วไปมี มูเล่ 2 ตัวเป็นตัวส่งกำลังผ่านสายพานที่เป็นโซ่แบบข้องู แต่จะแตกต่างจากเดิมด้วยการควบคุมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (ASC Logic) สามารถปรับเปลี่ยนเกียร์รองรับการขับขี่ได้กว่า 700 รูปแบบ

ซึ่งแต่ละรูปแบบจะเลือกตามการประมวลผลของคอมพิวเตอร์จากลักษณะการขับขี่ของผู้ขับ ส่วนเรื่องการตอบสนองการขับเป็นอย่างไรติดตามต่อในช่วงการขับ สำหรับเรื่องระบบเกียร์ CVT จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตรงใจผู้บริโภคชาวไทยหรือไม่ เรื่องนี้จากการที่เรามีโอกาสพูดคุยและสอบถามทีมงานนิสสัน บางคนบอกมั่นใจ ขณะที่บางคนก็ขอลุ้นให้ผู้บริโภคชอบ ทั้งนี้เนื่องจากรถที่ใช้ระบบเกียร์ดังกล่าวในเมืองไทยที่ผ่านมาค่อนข้างประสบปัญหาด้านการบริการหลังการขาย

[attachment=1927]

ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ระบบเกียร์ CVT ต้องใช้งานอย่างถูกวิธี และได้รับการบำรุงดูแลอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ หากผิดพลาดหรือละเลย ก็จะประสบปัญหาได้ง่ายกว่าเกียร์อัตโนมัติที่เป็นแบบเฟืองทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่ายหากเกียร์มีปัญหา ภายหลังระยะรับประกัน

เนื่องจากระบบเกียร์ CVT ของนิสสันลูกนี้ ไม่สามารถซ่อมได้เพราะเป็นเกียร์ระบบปิด เฉกเช่น เกียร์ของรถโฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ ฉะนั้นเมื่อพ้นระยะรับประกันที่ 100,000 กม. แล้วหากเกียร์มีปัญหา ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเกิดกับผู้ใช้รถทันที

สำหรับราคาเปลี่ยนเกียร์ทั้งลูก ของเทียน่า ใหม่ จากการยืนยันข้อมูลของทีมงานนิสสัน อยู่ที่ 136,400 บาท เท่ากับเกียร์อัตโนมัติ เทียน่าโฉมเดิม ซึ่งจะต่ำกว่า คู่แข่ง ที่เกียร์ทั้งลูกมีราคา 183,360 บาท และ 154,250 บาท แต่ทว่า ข้อได้เปรียบของเกียร์อัตโนมัติของคู่แข่งคือ สามารถซ่อมได้ โดยใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ขณะที่เกียร์แบบซีวีทีของนิสสันนั้นไม่สามารถซ่อมได้ ต้องเปลี่ยนทั้งลูกเพียงอย่างเดียว ดังที่บอกไว้

ส่วนอายุการใช้งานของเกียร์ CVT ของนิสสัน จากการสอบถามหัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนาที่มาตอบคำถามสื่อมวลชนในวันทดสอบ เขาบอกว่า มีอายุการใช้งานเกิน 100,000 กม. อย่างแน่นอน แต่จะให้ระบุตัวเลขว่าเท่าไหร่นั้น ไม่สามารถบอกได้ (ตามความเห็นของผู้เขียน เพราะ ระยะรับประกันคือ 100,000 กม. แต่หากเขาบอกระยะอายุการใช้งานเกินกว่าที่ระบุไว้ในระยะประกัน นั่นอาจจะมีผลผูกพันเท่ากับเป็นการขยายระยะประกัน โดยปริยาย)

น่าจะพอคลายข้อสงสัยเรื่องราวของเกียร์ CVT ไปได้ในระดับหนึ่ง เปลี่ยนมาเข้าเรื่องของการทดสอบกันบ้าง อย่างที่เกริ่นเอาไว้ คราวนี้จะเป็นคิวของ รุ่น 2.0 ลิตร ช่วงแรกเป็นการขับใช้งานแบบในเมือง เนื่องจากเรามองว่า คนที่จะเลือกเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร น่าจะมองถึงความประหยัดสำหรับการใช้งานในเมืองเป็นหลัก

รับรถมา เรามีเวลาและใช้งานเจ้า เทียน่า อยู่ราว 3 วัน ตั้งแต่วันแรกเราทดลองใช้งานย่านใจกลางเมือง เช่น สยาม, สีลม, เพลินจิต, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนถึงเส้นลาดพร้าวในช่วงเวลาบ่ายจนกระทั่งเย็น ท่ามกลางการจราจรที่แออัด พบว่า
มุมมองต่างๆ ของเทียน่าจัดว่า ชัดเจนดี แม้ตัวถังจะดูใหญ่แต่ก็ไม่เทอะทะเวลาเปลี่ยนเลน จะมีบ้างในบางจังหวะที่รู้สึกว่ารถยาวไปหรือเปล่า ส่งผลให้เวลาเบียดแซงจะกลัวว่าท้ายไปป้ายหน้ารถคันอื่นได้ ส่วนการเข้าตรอกซอกซอยเล็กๆ อาจจะมีปัญหาบ้างสำหรับมือใหม่ที่ไม่คุ้นชินกับตัวรถ

กำลังของเครื่องยนต์บล็อก 2.0 ลิตร136 แรงม้า แรงบิด 190 นิวตันเมตร ตอบสนองอย่างลงตัวพอดีๆ แต่ถ้าอยากลองให้รถออกตัวแบบปรู๊ดปร๊าดคงจะยากหน่อยสำหรับเทียน่าตัวนี้ ส่วนจังหวะเปลี่ยนเกียร์จะไม่รู้สึกดังเช่นคำโฆษณา (ก็เป็นเกียร์ CVT จะให้รู้สึกถึงการเปลี่ยนได้อย่างไร)

พวงมาลัยจับถนัดมือ ไม่หนักจนเกินไป รัศมีวงเลี้ยวตามระบุในคู่มือคือ 5.3 เมตรถือว่าแคบดี และเมื่อใช้งานจริงถนนขนาด 4 เลนสามารถกลับรถได้สบาย สำหรับอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง แบบใช้งานในเมือง รวมระยะทางที่เราวิ่งไปทั้งสิ้นราว 80 กม. ตัวเลขตามการแสดงผลหน้าจอของเทียน่าระบุที่ 6.3 กม./ลิตร

เบาะนั่ง ส่วนตัวของผู้เขียนรู้สึกว่าเมื่อนั่งขับอยู่นานกว่าชั่วโมงมีอากการเมื่อยหลังพอสมควร ทั้งที่ได้พยายามปรับเบาะนั่งให้เหมาะกับตัวเองที่สุดแล้วก็ตาม อากการนี้อาจจะเป็นเฉพาะตัวของผู้เขียนเองที่สรีระไม่เหมาะกับเบาะนั่งของนิสสัน เทียน่า ก็เป็นได้ ส่วนเบาะนั่งหลังถามผู้นั่งบอกว่า สบายดี

[attachment=1928]

ทั้งนี้มีจุดที่ต้องเอ่ยถึงคือ ตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารตอนหลัง(ผู้นั่งสูง 170 กว่า ซม.) เมื่อคาดแล้วสายเข็มขัดจะพาดตรงกับซอกคอพอดี ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเข็มขัดอาจจะบาดคอผู้คาดได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเกิดอุบัติเหตุจะกลายเป็นว่า เข็มขัดอาจจะรัดคอทำให้ผู้โดยสารได้รับอันตรายถึงขั้นสาหัสได้ ซึ่งจุดนี้ทางทีมงานวิศวกรของนิสสันได้รับข้อมูลและจะนำไปแก้ไขแล้ว

สำหรับการขับแบบทางยาว เราเลือกใช้เส้นทางพระราม 2 มุ่งหน้าเป้าหมายจ.เพชรบุรี ในเวลากลางวัน สิ่งแรกที่สัมผัสเมื่อออกเดินทางคือ จอกลางตรงคอนโซลหน้า ถูกมุมของแสงตกกระทบทำให้มองจอไม่เห็นอะไรเลย ทั้งนี้อาจจะเป็นเฉพาะเวลาแดดจ้าก็เป็นได้

ด้านการขับขี่ช่วงแรกเราใช้ความเร็วคงที่ไม่เกิน 120 กม./ชม. ใช้ระยะทางวิ่งราว 100 กม. หันไปมองตัวเลข อัตราการบริโภคน้ำมันแสดงผลอยู่ที่ 13.6 กม./ลิตร ถือว่าประหยัดดีทีเดียว ส่วนความรู้สึกในการขับขี่ ค่อนข้างสบาย รถวิ่งนิ่ง ไม่ยวบยาบ เกาะถนนดีกว่าโฉมเดิมชัดเจน และค่อนข้างนุ่มกว่าคู่แข่งเล็กน้อย

ส่วนความรู้สึกของผู้ที่นั่งด้านหลัง แม้จะนั่งสบาย นุ่มนวลดี แต่ก็รับรู้แรงกระเทือนจากถนนได้พอสมควร แต่ก็ยังพอจะงีบหลับได้เป็นบางช่วง

ส่วนจังหวะเร่งแซง เป็นเรื่องที่ผู้ขับต้องทำความเข้าใจและรู้จักกับการทำงานของเกียร์ CVT เนื่องจากเมื่อเราเร่งหมายมั่นว่าจะแซง เสียงเครื่องยนต์มาแล้ว แต่ความเร็วของตัวรถจะมาช้ากว่าที่คาดเล็กน้อย ความปรู๊ดปร๊าดไม่มี ความเร็วจะขึ้นแบบเนิบๆ สไตล์รถผู้ดี แตกต่างจากเกียร์อัตโนมัติเดิม ฉะนั้นผู้ขับต้องทำความคุ้นเคยให้มาก

เมื่อขับเข้าช่วงถนนเพชรเกษม เราวิ่งด้วยความเร็วเกินกว่า 120 กม./ชม. บางช่วงถนนว่าง เหยียบทะลุความเร็ว 160 กม./ชม.ส่วนใหญ่จะอยุ่ราว 140 กม./ชม. ความเร็วสูงสุดที่เราทำได้คือ 180 กม./ชม. ซึ่งก็เป็นเพียงครั้งเดียวเนื่องจากถนนและการจราจรไม่เอื้ออำนวย อัตราบริโภคน้ำมันตัวเลขค่าเฉลี่ยรวมกับช่วงแรกมาอยู่ที่ 11.6 กม./ลิตร

สรุป นิสสัน เทียน่า จะประสบความสำเร็จดังเช่นอดีตหรือไม่ คงต้องวัดใจผู้บริโภคว่าจะตอบรับกับ ระบบเกียร์ CVT ใหม่นี้อย่างไร ส่วนด้านหน้าตา เครื่องยนต์ นั้นถือเป็นจุดเด่นที่เรียกลูกค้ามาโดยตลอดอยู่แล้ว และใครที่กำลังมองหาซีดานขนาดกลาง ออกแนวหรู ดูดี ไม่เน้นความแรง อย่าลืมหยิบ นิสสัน เทียน่า ไว้เป็นหนึ่งในตัวเลือกด้วย

ขอขอบคุณ: http://www.manager.co.th